วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Pont du Gard


SRL_ปงดูว์การ์_lg
ปงดูว์การ์ (ฝรั่งเศส: Pont du Gard) เป็นสะพานส่งน้ำโรมันโบราณสร้างโดยจักรวรรดิโรมัน สร้างพาดผ่านแม่น้ำการ์ดง ใกล้กับเมืองเรอมูแล็ง (Remoulins) เมืองเล็ก ๆ ในจังหวัดการ์ แคว้นล็องก์ด็อก-รูซียง ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส สะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบส่งน้ำของเมืองนีม มีความยาวกว่า 50 กิโลเมตร

สร้างโดยชาวโรมันเพื่อส่งน้ำจากจากเมืองอูว์แซ็ส โดยระหว่างสองเมืองเป็นหุบเขา ระบบส่งน้ำที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน ย้ายมาสร้างอยู่บนสะพานเพื่อข้ามแม่น้ำการ์ดง นักประวัติศาสตร์คาดการณ์ว่าสะพานถูกสร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 โดยสะพานแห่งนี้จัดเป็นสะพานส่งน้ำที่สร้างในสมัยจักรวรรดิโรมันที่ยังคงสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง รองจากสะพานส่งน้ำแห่งเซโกเบีย
สะพานแห่งการ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1985 โดยองค์การยูเนสโก
สะพานประกอบด้วยฐานโค้งจำนวนสามชั้น สูง 48.80 เมตร โดยระหว่างความยาวทั้งหมด ความสูงของที่ส่งน้ำต่างระดับกันประมาณเพียง 17 เมตรเท่านั้น ในขณะที่ตัวสะพานมีความสูงทั้งสองฝั่งนั้นต่างกันเพียง 2.5 เซนติเมตร ซึ่งจัดว่าเป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยีการก่อสร้าง และความชาญฉลาดทางวิศวกรรมของชาวโรมันในอดีต
 
ในอดีตทางส่งน้ำสามารถส่งน้ำได้ประมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อส่งน้ำเข้ากับระบบน้ำในเมืองนีม รวมทั้งน้ำพุต่าง ๆ และโรงอาบน้ำ ปงดูว์การ์ยังถูกใช้งานจนกระทั่งประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 บางเขตยังใช้ได้นานกว่า แต่เนื่องจากการขาดการบำรุงรักษาที่เหมาะสม ราวศตวรรษที่ 14 ระบบส่งน้ำได้เริ่มอุดตันอันเนื่องจากการสะสมของแร่ธาตุ
 
ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ระบบส่งน้ำได้ถูกทิ้งและหยุดการใช้งานลง ตัวสะพานได้ถูกรักษาไว้อย่างดีเนื่องจากการใช้งานอีกด้านหนึ่งคือเป็นสะพานข้ามเขา โดยมีการเก็บค่าผ่านทางจากนักท่องเที่ยวเพื่อข้ามแม่น้ำ โดยเหล่าบิชอปและผู้มีอำนาจในสมัยนั้น โดยนำเงินมาบำรุงซ่อมแซมอยู่เสมอ จนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 หินบางส่วนได้หลุดและทลายลง และตั้งแต่สะพานแห่งการ์ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลัก
 
ได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เรื่อยมาตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึง 21 โดยมีรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ในปี ค.ศ. 2000 ได้มีการเปิดศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ และการย้ายสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในบริเวณรอบที่ตั้งสะพาน และในปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส

Mammoth

SRL_แมมมอธ_lg  ช้างแมมมอธ หรือ แมมมอธ (อังกฤษ: Mammoth) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลช้างที่อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งเมื่อกว่า 20,000 ปีก่อน จัดอยู่ในวงศ์ Elephantidae เช่นเดียวกับช้างที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยอยู่ในสกุล Mammuthus จำแนกออกได้ทั้งหมด 9 ชนิด   


แมมมอธ กระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปยุโรปและเอเชียเหนือ เช่น ไซบีเรีย ยกเว้นออสเตรเลียและอเมริกาใต้ เป็นช้างที่มีลำตัวและงาใหญ่กว่าช้างในยุคปัจจุบันมาก ปัจจุบันจะค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของแมมมอธได้ในยุคไพลสโตซีน
แมมมอธ กำเนิดขึ้นมาเมื่อราว 2.6 ล้านปีก่อน ในยุคไพลโอซีนตอนต้น และสูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิง เมื่อ 11,700 ปีที่ผ่านมา มีขนาดโดยเฉลี่ย 4 เมตร ตั้งแต่เท้าจนถึงหัวไหล่ มีสีขนที่หลากหลายตั้งแต่น้ำตาล หรือน้ำตาลออกเหลือง ความยาวตั้งแต่ 2.5 เซนติเมตร จนถึง 50 เซนติเมตร ภายใต้ผิวหนังหนาและมีชั้นไขมันเป็นฉนวนกันความหนาว 8 เซนติเมตร
มีส่วนหัวที่กลม ใบหูเล็กกว่าช้างในยุคปัจจุบันมาก มีโหนกไขมันอยู่บริเวณส่วนหลัง มีงายาวโค้งได้ถึง 4 เมตร มีฟันกรามเป็นสัน ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเหมาะแก่การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความหนาวในยุคน้ำแข็ง เพื่อรักษาความอบอุ่นในร่างกาย
แมมมอธ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ในยุคหินเก่า ด้วยการล่าเอาเนื้อเป็นอาหาร หนังและไขมันเป็นเครื่องสร้างความอบอุ่น จนมีภาพเขียนสีบนผนังถ้ำหลายแห่งที่ปรากฏภาพ การล่าแมมมอธด้วยอาวุธที่ทำจากหินในยุคนั้น
 

เชื่อว่า แมมมอธสูญพันธุ์ไปเพราะถูกล่าโดยมนุษย์จนหมด แต่จากการศึกษาด้านพันธุกรรมศาสตร์และดีเอ็นเอพบว่า แมมมอธนั้นมีสายสัมพันธ์ใกล้เคียงกับ Elephas หรือช้างเอเชียที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนปัจจุบัน จึงมีความพยายามจากนักวิทยาศาสตร์ที่จะโคลนนิงตัวอ่อนของแมมมอธให้เกิดขึ้นมาให้ได้ โดยให้แม่ช้างเอเชียเป็นฝ่ายอุ้มท้อง จากการสกลัดนิวเคลียสจากซากดึกดำบรรพ์ของลูกแมมมอธที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะถูกแช่แข็งในน้ำแข็ง จากไขกระดูกบริเวณต้นขา
 
ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 มีการค้นพบซากลูกแมมมอธอายุราว 30,000 ปี ที่สมบูรณ์มากตัวหนึ่งที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากกรุงมอสโคราว 3,500 กิโลเมตร โดยเด็กชายวัย 11 ขวบคนหนึ่ง นับเป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่สมบูรณ์มากซากหนึ่งในรอบนับร้อยปี เชื่อว่า ลูกแมมมอธตัวดังกล่าวตายลงเมื่อมีอายุได้ 16 ปี มีความสูงได้ 2 เมตร