วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

เล่าเรื่องเสน่ห์เมืองท่า “ฮอยอัน”



เรื่องและภาพ: กรกช นาวานุเคราะห์



ยิ่งเดินลึกเข้าไปในถนนแคบๆ ของเมืองเก่าฮอยอัน ยิ่งเหมือนกำลังย้อนเวลาไปหาอดีต บ้านทรงเตี้ยเรียงแถวสองฝั่งทางเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานของจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งยังคงสภาพความสวยงามและยิ่งใหญ่เช่นครั้งเมื่อฮอยอันเป็นเมืองท่าสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16-17

ปัจจุบันฮอยอันแปรสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางตอนกลางของเวียดนาม นักท่องเที่ยวเดินทางมาเพื่อยลโฉมตึกเก่าสีเหลืองที่ได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิมเป็นอย่างดี สมกับที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลก ปีพ.ศ.2542



อาคารภายในเมืองเก่าส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง เพราะสมัยก่อนสีทาบ้านหายาก จึงใช้ดินเหลืองมาทาผสมปูนฉาบตัวบ้าน จนได้รับความนิยมมาจนทุกวันนี้



วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวเมืองฮอยอัน และบ้านเมืองเก่าตั้งแต่สมัย 400 ปีที่แล้วแปรสภาพเป็นแหล่งบริการสำหรับการท่องเที่ยวตามสูตร เช่น อาร์ตแกลเลอรี่ ร้านขายของที่ระลึก คาเฟ่ และโรงแรม



เมืองเก่าฮอยอันไม่ใหญ่นัก สามารถเดินทอดน่องหรือปั่นจักรยานเที่ยว ไม่กี่ชั่วโมงก็เที่ยวทั่วแล้ว



อยากสัมผัสวัฒนธรรมการกินอยู่ของชาวฮอยอันแท้ๆ ต้องไม่พลาดตลาดสดที่เรียงรายไปด้วยอาหารพื้นเมือง



เมืองท่าฮอยอันในอดีตเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ภายหลังที่แม่น้ำเริ่มตื้นเขินจนเรือเดินสินค้าไม่สามารถจอดเทียบท่าได้ เมืองดานังจึงถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ฮอยอัน แต่อย่างไรก็ดี แม่น้ำทูโบน ยังคงทำหน้าที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวฮอยอันอยู่เรื่อยมา



สะพานญี่ปุ่น สร้างขึ้นเมือปี พ.ศ.2133 โดยชุมชนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองฮอยอัน เพื่อแบ่งการเขตชุมชนของชาวญี่ปุ่นกับชาวจีน เอกลักษณ์เฉพาะของสะพานคือมีหลังคาอยู่ด้านบน ขวามือของสะพานมีวัดญี่ปุ่น ที่พึ่งทางใจของชาวเรือทุกสัญชาติ

รถราง สวิตเซอร์แลนด์ เสียวสุดในโลก ที่ เกลเมอร์บาห์น





เครื่องเล่นในสวนสนุกยังต้องชิดซ้าย ถ้าได้มาเจอกับรถรางขบวนนี้ "เกลเมอร์บาห์น" (Gelmerbahn) ที่อ่างเก็บน้ำเลคเกลเมอร์(Lake Gelmer) บนภูเขาสูงในเมืองเบิร์น(Bern) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้สำหรับพานักท่องเที่ยวชมทัศนียภาพแสนสวยงามลุ้นระทึก ไต่ระดับขึ้นสู่ความสูง 1,800 เมตรเหนือน้ำทะเล





ในหนึ่งเที่ยวจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 24 คน จุดเริ่มต้นของความน่าหวาดเสียวอยู่ตรงที่ว่า รถรางคันนี้ไม่มี "เข็มขัด" ไว้คาดเพื่อความปลอดภัยแต่อย่างใดครับ สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะพึ่งพาอาศัยได้มีแค่ราวเหล็กตรงหน้าอย่างเดียว เรียกได้ว่าช่วยเพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจแบบสุดๆ ครับ




รถรางของเกลเมอร์บาห์นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1926 เพื่ออำนวยความสะดวก ในการสร้างอ่างเก็บน้ำเลคเกลเมอร์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นรถรางโดยสารไว้บริการนักท่องเที่ยวเมื่อปี ค.ศ.2001 และสำหรับการนั่งรถรางชมวิวนี้ ใช้เวลาในการเดินทางราว 12 นาที ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นนาทีชีวิตจริงๆ










ที่มา : dailymail, TNN24
ภาพ : Monika Flückiger

ประวัติของอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ (History of The Statue of Liberty)



ประวัติของอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ (History of The Statue of Liberty)

เธอเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ และยังเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์ที่มีคนรู้จักมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วย ขอต้อนรับสู่ WatchMojo.com และวันนี้เราจะมาพูดถึงอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ (The Statue of Liberty) กันค่ะ

“เรามีผู้พิทักษ์ไว้ซึ่งเปลวไฟแห่งเสรีภาพ ในคืนนี้เราขอเทิดทูนขึ้นไว้ให้โลกได้เห็น เป็นเหมือไฟนำทางแห่งความหวัง และเป็นแสงส่องสว่างให้ประเทศ”

เทพีเสรีภาพซึ่งตั้งอยู่กลางอ่าวนิวยอร์ก ได้แบบมาจากเทพเจ้าแห่งเสรีภาพของชาวโรมัน อนุสาวรีย์นี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Liberty Enlightening the World” และมีพิธีส่งมอบอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1886

นักประติมากรรมชาวฝรั่งเศส เฟรดเดอริก บาร์โธลดิ (Frederic Bartholdi) เป็นผู้ออกแบบเทพีเสรีภาพเพื่อเป็นของขวัญจากชาวฝรั่งเศสให้สหรัฐอเมริกา อาจารย์ด้านกฎหมายชื่อ เอดูอาร์ด เรอเน เดอ ลาบูเลย์ เป็นผู้ออกความคิดให้ชาวฝรั่งเศสและชาวอเมริกันสร้างอนุสาวรีย์ร่วมกัน

แต่เดิมอนุสาวรีย์นี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในวาระประเทศสหรัฐอเมริกาครบรอบหนึ่งร้อยปี และเพื่อเฉลิมฉลองการที่ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาต่างก็เป็นประเทศที่มีเสรีภาพและและประชาธิปไตยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม มีเพียงแค่ส่วนมือและคบเพลิงของเทพีเสรีภาพเท่านั้นที่เสร็จทันปี ค.ศ. 1876 และได้จัดแสดงไว้ในนิทรรศการร้อยปีสหรัฐอเมริกา

“เทพีเสรีภาพ” (Lady Liberty) เป็นอนุสาวรีย์รูปร่างเป็นหญิงสาวสวมเสื้อคลุม มือขวาถือคบเพลิง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนแสงสว่างแห่งเหตุผล ส่วนมือซ้ายถือหนังสือกฎหมายที่มีวันที่การลงนาม คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (The Declaration of Independence) จารึกไว้

เมื่อวัดจากเท้าของรูปปั้นไปจนถึงปลายคบเพลิง เทพีเสรีภาพมีความสูง 151 ฟุต อย่างไรก็ตามหากวัดตั้งแต่ฐานขึ้นไป ความสูงจะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว ผิวนอกของอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพทำมาจากทองแดง โดยมีโครงสร้างรับน้ำหนักเป็นโครงเหล็ก เดิมทีสีด้านนอกก็เป็นสีทองแดง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ในช่วงปี 1900 ผิวด้านนอกของอนุสาวรีย์ก็เริ่มเปลี่ยนสี สุดท้ายแล้วทางการก็ตัดสินใจคงสีสนิมเขียว (patina) ไว้เช่นนั้นเทพีเสรีภาพจึงมีสีเขียวอ่อนอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

โครงสร้างภายในของอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพได้รับการออกแบบโดย อเล็กซานเดอร์ กุสตาฟ ไอเฟล (Alexandre-Gustave Eiffel) ชายคนเดียวกับที่ออกแบบหอไอเฟล (Eiffel Tower) ในฝรั่งเศส ด้วยการร่วมมือกันของแรงงานชาวอเมริกันและชาวฝรั่งเศส ส่วนต่างๆของอนุสาวรีย์นี้จะถูกสร้างขึ้นในประเทศฝรั่งเศส และส่งไปยังสหรัฐอเมริกาทางเรือ

ในช่วงหลายปีก่อนที่อนุสาวรีย์จะถูกสร้างขึ้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ว่าศิลปินที่เป็นชาวอเมริกันควรเป็นผู้ออกแบบเทพีเสรีภาพ ประเด็นเรื่องนี้และการที่สหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลานานในการระดมทุนเพื่อสร้างฐานของอนุสาวรีย์ ทำให้โครงการสร้างยืดเยื้อออกไปหลายปี อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้นำเสนอเทพีเสรีภาพในปี ค.ศ. 1884 ถูกส่งลงเรือมายังสหรัฐฯในปีถัดมา และได้เปิดตัวต่อสาธารณชนในที่สุด เมื่อปี ค.ศ. 1886

ประชาชนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาสู่สหรัฐอเมริกาทางเรือมากมายหลายคนในสมัยนั้น จะได้รับการต้อนรับจากเทพีเสรีภาพเมื่อเดินทางมาถึง นี่ทำให้อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา บทกลอนที่อยู่บริเวณฐานของอนุสาวรีย์ สลักข้อความอันโด่งดังไว้ว่า “นำความเหน็ดเหนื่อย ความยากจน ความแออัดท่ามกลางฝูงชนจนอยากสูดดมอิสรภาพของท่าน มาให้ฉัน” (Give me your tired, your poor, your huddled masses yearning to breathe free) เพื่อคอยต้อนรับผู้อพยพสู่โลกใหม่

เดิมทีนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปถึงส่วนมงกุฎของเทพีเสรีภาพเพื่อชมวิวของอ่าวที่อยู่ด้านล่างได้ และสามารถปีนผ่านช่องแคบๆเพื่อขึ้นไปยังส่วนคบเพลิงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามส่วนคบเพลิงปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ได้มีการบูรณะอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีเมื่อปี ค.ศ. 1986 โครงเหล็กทั้งหมดของเทพีเสรีภาพได้ถูกเปลี่ยนใหม่ ทำให้อนุสาวรีย์แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้แผ่นผิวนอกบางชิ้นก็ถูกเปลี่ยนใหม่ด้วย
หลังเหตุการณ์การโจมตีนครนิวยอร์กของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในปี 2001 อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพและเกาะลิเบอร์ตี้ได้ถูกปิด เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย หลังจากนั้นทางการได้ทยอยเปิดเกาะลิเบอร์ตี้ ส่วนฐานของอนุสาวรีย์ และสุดท้ายก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในส่วนเทพีเสรีภาพได้ในปี 2009

เนื่องจากเทพีเสรีภาพถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสหรัฐอเมริกา เธอจึงถูกนำเสนอในสื่อสมัยใหม่และของที่ระลึกมากมาย เทพีเสรีภาพไม่ได้แสดงถึงการคุกคาม และไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ คนส่วนใหญ่มองว่าเทพีเสรีภาพเป็นดวงประทีปแห่งความหวัง

เทพีเสรีภาพได้อยู่เป็นประจักษ์พยานประวัติศาสตร์มานานกว่าหนึ่งศตวรรษ และได้กลายมาเป็นตัวแทนของอุดมการณ์การเทิดทูนเสรีภาพของสหรัฐอเมริกา

“ด้วยความปีติยินดี การเฉลิมฉลอง และการอธิษฐานให้เปลวไฟนี้ไม่มีวัดดับสูญ ขอให้ทุกคนร่วมกับข้าพเจ้าในพิธีการแห่งความเชื่อที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ พิธีจุดแสงสว่างให้คบเพลิงของเทพีเสรีภาพ”

(แปลโดยทีมงานทรูปลูกปัญญา)


เรื่อง : ประวัติของอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ (History of The Statue of Liberty)
ชื่อเจ้าของคลิป : WatchMojo
URL : http://www.youtube.com/watch?v=Y3utCntXrPo

The Mist Town เรียบง่ายในสายหมอก



เรื่องและภาพ: กรกช นาวานุเคราะห์



สังขละบุรี อำเภอเล็กๆ ติดกับชายแดนพม่าในกาญจนบุรี เมืองแห่งสายน้ำ ขุนเขา และผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของพี่น้องต่างเผ่าพันธุ์ ทั้งมอญ กะเหรี่ยง ไทย ลาว พม่า และเป็นเมืองที่มีทัศนียภาพที่งดงาม โดยเฉพาะฉากไฮไลท์คือ สะพานไม้อุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) แค่ได้เดินเล่นบนสะพาน ชมทัศนียภาพของแม่น้ำซองกาเรีย มองดูผู้คนสัญจรไปมา ก็อยากจะขยายเวลาดื่มด่ำกับความสุขชั่วคราวไปอีกสักนิดหนึ่ง

สะพานมอญเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวประมาณ 900 เมตร หลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้างขึ้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน เพื่อย่นระยะทางในการเดินทาง


วิถีชีวิตที่เรียบง่ายเริ่มขึ้นพร้อมกับแดดสีทองของยามเช้า


บ้านริมน้ำและเรืิอหางยาว พาหนะที่อยู่คู่กับ สายน้ำซองกาเรีย หนึ่งในสามสายน้ำ “สามประสบ” แม่น้ำอีก 2 สายคือ บิคลี่ และรันตี ทั้งสามสายไหลรวมกันเป็นแม่น้ำแควน้อยที่คุ้นเคย ทิ้งอารมณ์ไปกับสายหมอกและควันกาแฟในร้านกาแฟเล็กๆ


บรรยากาศยามเช้าของ “เมืองในหมอก” อีกฉายาหนึ่งของสังขละบุรี กับเส้นทางระหว่างการเดินทางจะตัดผ่านภูเขาเลียบทะเลสาบเขื่อนเขาแหลม เป็นทัศนียภาพที่งดงามนัก
แหล่งที่มา :

plook magazine

ท่องน่าน ล้านนาตะวันออก



เรื่องและภาพ: พิษณุกรณ์ เต็มปัน



“แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง” คำขวัญของจังหวัดน่าน จังหวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภาคเหนือ แสดงถึงความโดดเด่นซึ่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เสน่ห์เมืองน่านไม่ได้มีแค่นั้น เพราะนักเดินทางที่เคยผ่านมาเยือนเมืองน่านมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่นี่เป็นเมืองเล็กที่อบอุ่นไปด้วยไมตรีจิตของชาวบ้านชาวเมือง



แหล่งท่องเที่ยวของเมืองน่านกระจายตัวอยู่ตามอำเภอต่างๆ หากจะตั้งหลักก็คงต้องเริ่มต้นที่อำเภอเมืองน่าน เพราะเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว การค้าขาย การบริการต่างๆ แม้จะเป็นศูนย์กลางแต่เมื่อตะวันตกดินแค่สองสามทุ่ม อำเภอเมืองน่านก็เข้าสู่ความเงียบสงัด ไม่มีรถราออกวิ่งสักเท่าไหร่ อำเภอเมืองน่านเป็นที่ตั้งของ วัดภูมินทร์ เป็นวัดสำคัญและเก่าแก่ที่ปรากฏในคำขวัญจังหวัดน่าน เป็นวัดแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างพระอุโบสถแบบจัตุรมุข มีบันไดทางขึ้นสี่ด้าน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองน่าน ใกล้ๆ กันนี้ยังมี วัดมิ่งเมือง ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศาลหลักเมืองน่านอีกด้วย วัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องสถาปัตยกรรมและลายปูนปั้นของพระอุโบสถที่คล้ายคลึงกับวัดร่องขุนแห่งเมืองเชียงราย มีความประณีต งดงาม วิจิตรอลังการมาก



ใครตีความภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์ไม่ออก อาจทำความรู้จักจังหวัดน่านได้มากขึ้นจาก พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่านหรือที่เรียกว่า “หอคำ” ที่นี่เป็นสถานที่บอกเล่าความเป็นมาของเมืองน่านเอาไว้อย่างครบถ้วน รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์ล้านนาตะวันออกมาจัดแสดงในที่เดียว



ข้ามฝั่งแม่น้ำน่านไปอีกด้าน เราจะได้พบกับวัดอีกหนึ่งวัดที่ปรากฏในคำขวัญ ได้แก่ วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นพระอารามหลวงซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานกว่า 600 ปี ในช่วงเทศกาลสำคัญเช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เราจะเห็นพระธาตุสีทองตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางกระแสนักท่องเที่ยว ภาพแบบนี้แหละที่ปรากฏอยู่ในอัลบั้มแห่งความประทับใจของผู้มาเยือนเมืองน่านมานักต่อนัก



สำหรับคนรักธรรมชาติ คงอยากขึ้นภูเขารับอากาศอันแสนบริสุทธิ์ ดูภาพทิวทัศน์ที่สวยงาม ยามค่ำคืนก็นอนดูดาวที่ส่องแสงเต็มท้องฟ้า ไร้แสงนีออนรบกวนเหมือนเมืองใหญ่ ลองมาพักกางเต๊นท์ที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ในฤดูท่องเที่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี ที่อุทยานแห่งชาติศรีน่านมีจุดชมวิวทะเลหมอกยามเช้าอย่าง ดอยเสมอดาว และ ผาชู้ในหน้าหนาวสามารถมองเห็นทิวทัศน์และแม่น้ำน่านที่ทอดตัวคดเคี้ยวไปตามที่ราบลุ่มอย่างงดงาม น่านยังมีกิจกรรมกลางแจ้งที่ขึ้นชื่อในหมู่นักผจญภัยคือการล่องแก่งน้ำว้า ด้วยความยาวกว่า 80 กิโลเมตรของน้ำว้า จึงเป็นที่ที่นักล่องแก่งทุกคนต้องมาเยือน

แม้กระแสวัฒนธรรมเมืองใหญ่และวัฒนธรรมตะวันตกจะถาโถมเข้ามาเท่าไหร่ก็ตาม น่านยังคงดำรงไว้ซึ่งความเป็นพื้นบ้านล้านนาไทยได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเที่ยวธรรมชาติหรือศิลปวัฒนธรรม ความเรียบง่ายของน่านคือความพิเศษที่รอให้นักเดินทางมาสัมผัสด้วยตนเอง
แหล่งที่มา :

plook magazine

“ปาย” ฝนต้นหนาว



เรื่องและภาพ: พิษณุกรณ์ เต็มปัน



เสน่ห์ของเมืองปายไม่เคยจางหาย อำเภอเล็กๆ ในแม่ฮ่องสอนดึงดูดนักเดินทางให้แวะเวียนเข้ามาได้ตลอดปี ช่วงที่ปายต้อนรับแขกมากที่สุดหนีไม่พ้นหน้าหนาว แต่จะมีใครรู้บ้างว่าปายในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้บรรยากาศเงียบสงบเหมาะกับการพักผ่อน ด้วยอากาศเย็นสบายต้นไม้เขียวขจี ผู้คนไม่พลุกพล่าน ให้โอกาสปายอีกครั้ง แล้วคุณจะรักปายมากกว่าเดิม


เดินทางมาจากเชียงใหม่ก่อนเข้าตัวเมืองปายจะผ่านสะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย ซึ่งมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2


สถานีขนส่งผู้โดยสารปาย หากเดินทางโดยรถสาธารณะจะมีรถตู้ รถมินิบัส และรถบัสให้บริการจากตัวเมืองเชียงใหม่ แวะจอดส่งผู้โดยสารที่ปายก่อนเดินทางต่อไปยังแม่ฮ่องสอน


สี่แยกปายหนาว จุดเริ่มต้นของถนนคนเดินในช่วงเวลาย่ำค่ำ


วัดน้ำฮู ที่ประดิษฐานของหลวงพ่ออุ่นเมือง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปาย


บ้านซึ่งทำจากดินเหนียวทั้งหลัง เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านสันติชล ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง


ร้านขายโปสการ์ดมีให้เห็นเต็มไปหมด มีบริการครบวงจร สามารถซื้อโปสการ์ด เขียนแล้วหย่อนลงตู้ไปรษณีย์ได้เลย


ผลิตภัณฑ์จากชาวเขาบนถนนคนเดิน


บรรยากาศถนนคนเดินตอนกลางคืนผู้คนไม่พลุกพล่าน ต่างจากช่วงหน้าหนาวสุดๆ


ขึ้นภูเขามาขนาดนี้ยังเจออาบังขายโรตี ก็อร่อยน่ะสิถามได้!

tip
เที่ยวปายช่วงปลายฝนต้นหนาวควรเช่ามอเตอร์ไซค์ตะลอนทัวร์ ค่าเช่า 80-120 บาทต่อวัน (ไม่รวมน้ำมัน) อากาศกำลังดี อย่าลืมพกแว่นตากันลมไปด้วยล่ะ

ประเทศไหนฉลองปีใหม่ก่อนเพื่อน


ประเทศไหน ฉลองปีใหม่ก่อนเพื่อน

Sigmund Freud






Sigmund Freud (1856-1939)

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์คิดค้นโดย Sigmund Freud (1856-1939) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนีส ทฤษฎีของเขาได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในยุคนั้น มีแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาด้านจิตใจที่พัฒนาตามมาอีกมากมาย

แม้ในปัจจุบันความสำคัญของทฤษฎีจิตวิเคราะห์จะมีบทบาทลดลง ทฤษฎีด้านชีวภาพและการรักษาด้วยยามีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันว่า ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นส่วนที่ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของจิตใจได้เป็นอย่างดี

ทฤษฎีพื้นฐาน

จิตใจของคนเราสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับตามการรับรู้ ได้แก่

1. จิตสำนึก (The conscious) เป็นส่วนของจิตใจที่คนเรารู้สึกนึกคิดอยู่ในแต่ละขณะ

2. จิตก่อนสำนึก (The preconscious) เป็นส่วนของจิตใจที่ตามปกติแล้วเราไม่ได้ตระหนักถึง แต่หากใช้ความตั้งใจก็จะขึ้นมาสู่จิตสำนึกได้ เช่น การพยายามนึกถึงเหตุการณ์บางอย่างในอดีต

3. จิตไร้สำนึก (The unconscious) เป็นความรู้สึกนึกคิด หรือความต้องการที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ตามปกติไม่อาจขึ้นมาในระดับจิตสำนึกได้ อาจแสดงออกมาในความฝัน หรือแสดงเป็นอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย ซึ่งจะเบี่ยงเบนไปจากความคิดหรือความต้องการดั้งเดิม

และฟรอยด์ยังแบ่งกระบวนการคิดออกเป็น 2 ลักษณะ

1. Secondary Process เป็นกระบวนการคิดที่เราคุ้นเคยและใช้กันอยู่ ในระดับจิตสำนึกและจิตก่อนสำนึกมีกระบวนการคิดเช่นนี้
เป็นการคิดที่ยึดเหตุผล มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง (reality principle) เช่น คนเราบางครั้งผิดหวังและบางครั้งก็มีสมหวัง หรือสิ่งที่ต้องการบางอย่างอาจต้องรอคอยบ้าง

2. Primary Process เป็นกระบวนการคิดในระดับจิตไร้สำนึก
วิธีคิดเป็นแบบเด็ก ๆ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่สนใจเรื่องเวลาหรือสถานที่ สิ่งที่ต้องการคือความสุข ความสมหวัง ซึ่งหากต้องการก็จะต้องได้รับการตอบสนองทันทีจึงจะพอใจ โดยไม่คำนึงว่าผลตามมาจะเป็นอย่างไร (pleasure principle)

ตัวอย่างที่เห็นชัดได้แก่การฝัน ซึ่งเหตุการณ์ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งที่อยู่คนละมิติ คนละเวลากัน สามารถมาอยู่ด้วยกันได้ หากนึกถึงอะไรก็จะได้สิ่งนั้น


ฟรอยด์ยังแบ่งโครงสร้างของจิตใจออกตามหน้าที่ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1. Id
เป็นส่วนที่อยู่ในจิตไร้สำนึกเท่านั้น เป็นแรงผลักดันดั้งเดิมของคนเรา แบ่งออกเป็นแรงผลักดันทางเพศ (libidinal drive) และแรงผลักดันทางความก้าวร้าว (aggressive drive) การแสดงออกของ id เป็นไปตาม primary process และ pleasure principle

2. Ego
เป็นส่วนที่ทำหน้าที่อยู่ทั้ง 3 ระดับของจิตใจ โดยจะควบคุม บริหารจัดการ ต่อแรงผลักดันต่าง ๆ ที่มามีปฏิสัมพันธ์กัน ทำหน้าที่ประนีประนอมระหว่างแรงผลักดันจาก id กับระเบียบหรือข้อจำกัดจากสภาพเป็นจริงภายนอก และแรงต่อต้านจาก superego โดยการทำหน้าที่เป็นไปตาม secondary process และ reality principle

3. Superego
เป็นส่วนของจิตใจที่พัฒาขึ้นมาในระยะ edipal แบ่งออกเป็น conscience หรือมโนธรรมซึ่งมีหน้าที่คอยตัดสินความคิด การกระทำว่าถูกหรือผิด และ ego ideal ซึ่งเป็นส่วนของบุคคลในอุดมคติที่เราอยากเป็นหรืออยากเอาแบบอย่าง


กลไกการเกิดอาการ (Symptom Formation)

ปกติแรงผลักดันต่าง ๆ ภายในจิตใจ และจากสิ่งแวดล้อมจะมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตลอด ไม่หยุดนิ่ง (dynamic)

แรงผลักดันจาก id จะถูกต่อต้านโดย ego เนื่องจากหากความต้องการจาก id ได้ขึ้นสู่จิตสำนึก หรือแสดงออกโดยตรงอาจก่อให้เกิดผลเสียแก่บุคคลนั้นได้ ในบางขณะ superego จะเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย

แรงผลักดันที่มีลักษณะตรงข้ามกันเหล่านี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง (conflict) ขึ้น ซึ่งอาจเป็นความขัดแย้งของโครงสร้างต่าง ๆ ภายในจิตใจ หรืออาจเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพิจารณาถึงต้นตอของความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านี้จะพบว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เราเรียกความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego นี้ว่า neurotic conflict


เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจิตใจจะอยู่ในสภาพเสียสมดุล (disequilibrium) แรงผลักดันจาก id มีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นสู่จิตสำนึก ภายใต้สถานการณ์นี้จะเกิดมีสัญญาณเตือนต่อ ego ในลักษณะของความรู้สึกวิตกกังวล (signal anxiety) ทำให้ ego ต้องแก้ไขสถานการณ์โดยใช้กลไกทางจิต (defense mechanism) เข้าช่วย กลไกทางจิตที่ใช้เป็นลำดับแรกได้แก่ การเก็บกด (repression) ถ้าสำเร็จแรงผลักดันจาก id รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวเนื่องกับแรงผลักดันนี้จะถูกผลักกลับไปอยู่จิตไร้สำนึกตามเดิม เกิดความสมดุลของจิตใจขึ้นใหม่

ในกรณีที่กลไกทางจิตแบบเก็บกดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากแรงผลักดันจาก id รุนแรงมาก ego อ่อนแอลงในช่วงนั้น หรือมีปัจจัยภายนอกมาเสริมแรงผลักดันจาก id ego จะใช้กลไกทางจิตรูปแบบอื่น ๆ เข้าช่วย (auxillary defense) เช่น reaction formation หรือ projection ลักษณะการแสดงออกจะเป็นในรูปแบบของการประนีประนอม (compromise formation) กล่าวคือ ให้แรงผลักดันจาก id ได้ขึ้นมาสู่จิตสำนึกบางส่วนในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ความต้องการจากแรงผลักดันดั้งเดิมได้รับการตอบสนองบ้าง ในขณะเดียวกันก็ยังแสดงถึงแรงต่อต้านจาก ego ในรูปแบบของกลไกทางจิตที่ใช้เข้าช่วย อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่แสดงออกมานั้นเป็นผลรวมของแรงผลักดันจาก id ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลไกทางจิตที่ ego ใช้เข้าช่วยเสริม repression และ signal anxiety ที่ยังอาจมีอยู่บ้าง

กลไกทางจิต (Defense Mechanism)



กลไกทางจิตส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึก ซึ่งผู้ป่วยจะไม่ตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ดังเช่นใน displacement ผู้ป่วยแสดงความฉุนเฉียวกับคนใช้ที่บ้าน เนื่องจากรู้สึกว่า คนใช้ชักช้า งุ่มง่าม ไม่เคยได้ดังใจ โดยที่ไม่ทราบว่าตามจริงแล้วเป็นจากการที่ตนโกรธหัวหน้างานแต่แสดงออกไม่ได้จึงมาระบายกับคนใช้

โดยลำพังในตัวของกลไกทางจิตเองไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ เนื่องจากเป็นการปรับตัวของ ego เพื่อให้จิตใจกลับสู่สมดุล แต่หากบุคคลนั้น ๆ มีการใช้กลไกทางจิตแบบเดิม ๆ อยู่เสมอ ใช้กลไกทางจิตจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ไม่ยืดหยุ่นปรับตามสถานการณ์ หรือมีการใช้กลไกทางจิตที่ไม่เหมาะสมกับวัยหรือสถานการณ์อยู่บ่อย ๆ ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาหรือจิตพยาธิสภาพในบุคคลนั้นตามมา

แต่บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ คือ การที่บุคคลสามารถใช้พลังอีโก้เป็นตัวควบคุมพลังอิด และซูเปอร์อีโก้ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้


กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ฟรอยด์และบุตรีแอนนา ฟรอยด์ ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังต่อไปนี้


1) การเก็บกด (Repression) หมายถึง การเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจ หรือความรู้สึกผิดหวัง ความคับข้องใจไว้ในจิตใต้สำนึก จนกระทั่ง ลืมกลไกป้องกันตัวประเภทนี้มีอันตราย เพราะถ้าเก็บกดความรู้สึกไว้มากจะมีความวิตกกังวลใจมาก และอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้

2) การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) หมายถึง การปรับตัว โดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ตีลูก มักจะบอกว่า การตีทำเพื่อเด็ก เพราะเด็กต้องได้รับการทำโทษเป็นบางครั้งจะได้เป็นคนดี พ่อแม่จะไม่ยอมรับว่าตี เพราะโกรธลูก

3) การถดถอย (Regression) หมายถึง การหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข ตัวอย่างเช่น เด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้องใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่กับน้อง มีความรู้สึกว่าแม่ไม่รัก และไม่สนใจตนเท่าที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารกที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง

4) การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) หมายถึง กลไกป้องกันตน โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง ที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคม อาจจะไม่ยอมรับ ตัวอย่างแม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่ง อาจจะมีพฤติกรรมตรงข้าม โดยการแสดงความรักมากอย่างผิดปกติ

5) การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy หรือ Day dreaming) เป็นการสร้างจินตนาการ หรือมโนภาพ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการ แต่เป็นไปไม่ได้

6) การแยกตัว (Isolation) หมายถึง การแยกตนให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง ตัวอย่างเช่น เด็กที่คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก อาจจะแยกตนปิดประตูอยู่คนเดียว

7) การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) เป็นการระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคน หรือสิ่งของ ที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เป็นต้นว่า บุคคลที่ถูกนายข่มขู่ หรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะใช้ภรรยา หรือลูกๆ เป็นแพะรับบาป เช่น อาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยา และลูก ๆ นักเรียนที่โกรธครู แต่ทำอะไรครูไม่ได้ ก็อาจจะเลือกสิ่งของ เช่น โต๊ะเก้าอี้เป็นสิ่งแทนที่ เช่น เตะโต๊ะ เก้าอี้

8) การเลียนแบบ (Identification) หมายถึง การปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่อง ตัวอย่างเช่น เด็กชายจะพยายามทำตัวให้เหมือนพ่อ เด็กหญิงจะทำตัวให้เหมือนแม่

กลไกในการป้องกันตัว เป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผล หรือแก้ไขปัญหาได้



ที่มาเรียบเรียงจาก :
- บทความโดยมาโนช หล่อตระกูล จากเว็บภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- http://rasidah6381.blogspot.com/2012/07/1_9282.html

ภาพประกอบ :
http://imploii.exteen.com/20091129/entry-1
http://rasidah6381.blogspot.com/2012/07/1_9282.html