วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

Sigmund Freud






Sigmund Freud (1856-1939)

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์คิดค้นโดย Sigmund Freud (1856-1939) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนีส ทฤษฎีของเขาได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในยุคนั้น มีแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาด้านจิตใจที่พัฒนาตามมาอีกมากมาย

แม้ในปัจจุบันความสำคัญของทฤษฎีจิตวิเคราะห์จะมีบทบาทลดลง ทฤษฎีด้านชีวภาพและการรักษาด้วยยามีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันว่า ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นส่วนที่ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของจิตใจได้เป็นอย่างดี

ทฤษฎีพื้นฐาน

จิตใจของคนเราสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับตามการรับรู้ ได้แก่

1. จิตสำนึก (The conscious) เป็นส่วนของจิตใจที่คนเรารู้สึกนึกคิดอยู่ในแต่ละขณะ

2. จิตก่อนสำนึก (The preconscious) เป็นส่วนของจิตใจที่ตามปกติแล้วเราไม่ได้ตระหนักถึง แต่หากใช้ความตั้งใจก็จะขึ้นมาสู่จิตสำนึกได้ เช่น การพยายามนึกถึงเหตุการณ์บางอย่างในอดีต

3. จิตไร้สำนึก (The unconscious) เป็นความรู้สึกนึกคิด หรือความต้องการที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ตามปกติไม่อาจขึ้นมาในระดับจิตสำนึกได้ อาจแสดงออกมาในความฝัน หรือแสดงเป็นอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย ซึ่งจะเบี่ยงเบนไปจากความคิดหรือความต้องการดั้งเดิม

และฟรอยด์ยังแบ่งกระบวนการคิดออกเป็น 2 ลักษณะ

1. Secondary Process เป็นกระบวนการคิดที่เราคุ้นเคยและใช้กันอยู่ ในระดับจิตสำนึกและจิตก่อนสำนึกมีกระบวนการคิดเช่นนี้
เป็นการคิดที่ยึดเหตุผล มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง (reality principle) เช่น คนเราบางครั้งผิดหวังและบางครั้งก็มีสมหวัง หรือสิ่งที่ต้องการบางอย่างอาจต้องรอคอยบ้าง

2. Primary Process เป็นกระบวนการคิดในระดับจิตไร้สำนึก
วิธีคิดเป็นแบบเด็ก ๆ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่สนใจเรื่องเวลาหรือสถานที่ สิ่งที่ต้องการคือความสุข ความสมหวัง ซึ่งหากต้องการก็จะต้องได้รับการตอบสนองทันทีจึงจะพอใจ โดยไม่คำนึงว่าผลตามมาจะเป็นอย่างไร (pleasure principle)

ตัวอย่างที่เห็นชัดได้แก่การฝัน ซึ่งเหตุการณ์ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งที่อยู่คนละมิติ คนละเวลากัน สามารถมาอยู่ด้วยกันได้ หากนึกถึงอะไรก็จะได้สิ่งนั้น


ฟรอยด์ยังแบ่งโครงสร้างของจิตใจออกตามหน้าที่ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1. Id
เป็นส่วนที่อยู่ในจิตไร้สำนึกเท่านั้น เป็นแรงผลักดันดั้งเดิมของคนเรา แบ่งออกเป็นแรงผลักดันทางเพศ (libidinal drive) และแรงผลักดันทางความก้าวร้าว (aggressive drive) การแสดงออกของ id เป็นไปตาม primary process และ pleasure principle

2. Ego
เป็นส่วนที่ทำหน้าที่อยู่ทั้ง 3 ระดับของจิตใจ โดยจะควบคุม บริหารจัดการ ต่อแรงผลักดันต่าง ๆ ที่มามีปฏิสัมพันธ์กัน ทำหน้าที่ประนีประนอมระหว่างแรงผลักดันจาก id กับระเบียบหรือข้อจำกัดจากสภาพเป็นจริงภายนอก และแรงต่อต้านจาก superego โดยการทำหน้าที่เป็นไปตาม secondary process และ reality principle

3. Superego
เป็นส่วนของจิตใจที่พัฒาขึ้นมาในระยะ edipal แบ่งออกเป็น conscience หรือมโนธรรมซึ่งมีหน้าที่คอยตัดสินความคิด การกระทำว่าถูกหรือผิด และ ego ideal ซึ่งเป็นส่วนของบุคคลในอุดมคติที่เราอยากเป็นหรืออยากเอาแบบอย่าง


กลไกการเกิดอาการ (Symptom Formation)

ปกติแรงผลักดันต่าง ๆ ภายในจิตใจ และจากสิ่งแวดล้อมจะมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตลอด ไม่หยุดนิ่ง (dynamic)

แรงผลักดันจาก id จะถูกต่อต้านโดย ego เนื่องจากหากความต้องการจาก id ได้ขึ้นสู่จิตสำนึก หรือแสดงออกโดยตรงอาจก่อให้เกิดผลเสียแก่บุคคลนั้นได้ ในบางขณะ superego จะเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย

แรงผลักดันที่มีลักษณะตรงข้ามกันเหล่านี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง (conflict) ขึ้น ซึ่งอาจเป็นความขัดแย้งของโครงสร้างต่าง ๆ ภายในจิตใจ หรืออาจเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพิจารณาถึงต้นตอของความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านี้จะพบว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เราเรียกความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego นี้ว่า neurotic conflict


เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจิตใจจะอยู่ในสภาพเสียสมดุล (disequilibrium) แรงผลักดันจาก id มีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นสู่จิตสำนึก ภายใต้สถานการณ์นี้จะเกิดมีสัญญาณเตือนต่อ ego ในลักษณะของความรู้สึกวิตกกังวล (signal anxiety) ทำให้ ego ต้องแก้ไขสถานการณ์โดยใช้กลไกทางจิต (defense mechanism) เข้าช่วย กลไกทางจิตที่ใช้เป็นลำดับแรกได้แก่ การเก็บกด (repression) ถ้าสำเร็จแรงผลักดันจาก id รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวเนื่องกับแรงผลักดันนี้จะถูกผลักกลับไปอยู่จิตไร้สำนึกตามเดิม เกิดความสมดุลของจิตใจขึ้นใหม่

ในกรณีที่กลไกทางจิตแบบเก็บกดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากแรงผลักดันจาก id รุนแรงมาก ego อ่อนแอลงในช่วงนั้น หรือมีปัจจัยภายนอกมาเสริมแรงผลักดันจาก id ego จะใช้กลไกทางจิตรูปแบบอื่น ๆ เข้าช่วย (auxillary defense) เช่น reaction formation หรือ projection ลักษณะการแสดงออกจะเป็นในรูปแบบของการประนีประนอม (compromise formation) กล่าวคือ ให้แรงผลักดันจาก id ได้ขึ้นมาสู่จิตสำนึกบางส่วนในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ความต้องการจากแรงผลักดันดั้งเดิมได้รับการตอบสนองบ้าง ในขณะเดียวกันก็ยังแสดงถึงแรงต่อต้านจาก ego ในรูปแบบของกลไกทางจิตที่ใช้เข้าช่วย อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่แสดงออกมานั้นเป็นผลรวมของแรงผลักดันจาก id ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลไกทางจิตที่ ego ใช้เข้าช่วยเสริม repression และ signal anxiety ที่ยังอาจมีอยู่บ้าง

กลไกทางจิต (Defense Mechanism)



กลไกทางจิตส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึก ซึ่งผู้ป่วยจะไม่ตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ดังเช่นใน displacement ผู้ป่วยแสดงความฉุนเฉียวกับคนใช้ที่บ้าน เนื่องจากรู้สึกว่า คนใช้ชักช้า งุ่มง่าม ไม่เคยได้ดังใจ โดยที่ไม่ทราบว่าตามจริงแล้วเป็นจากการที่ตนโกรธหัวหน้างานแต่แสดงออกไม่ได้จึงมาระบายกับคนใช้

โดยลำพังในตัวของกลไกทางจิตเองไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ เนื่องจากเป็นการปรับตัวของ ego เพื่อให้จิตใจกลับสู่สมดุล แต่หากบุคคลนั้น ๆ มีการใช้กลไกทางจิตแบบเดิม ๆ อยู่เสมอ ใช้กลไกทางจิตจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ไม่ยืดหยุ่นปรับตามสถานการณ์ หรือมีการใช้กลไกทางจิตที่ไม่เหมาะสมกับวัยหรือสถานการณ์อยู่บ่อย ๆ ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาหรือจิตพยาธิสภาพในบุคคลนั้นตามมา

แต่บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ คือ การที่บุคคลสามารถใช้พลังอีโก้เป็นตัวควบคุมพลังอิด และซูเปอร์อีโก้ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้


กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ฟรอยด์และบุตรีแอนนา ฟรอยด์ ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังต่อไปนี้


1) การเก็บกด (Repression) หมายถึง การเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจ หรือความรู้สึกผิดหวัง ความคับข้องใจไว้ในจิตใต้สำนึก จนกระทั่ง ลืมกลไกป้องกันตัวประเภทนี้มีอันตราย เพราะถ้าเก็บกดความรู้สึกไว้มากจะมีความวิตกกังวลใจมาก และอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้

2) การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) หมายถึง การปรับตัว โดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ตีลูก มักจะบอกว่า การตีทำเพื่อเด็ก เพราะเด็กต้องได้รับการทำโทษเป็นบางครั้งจะได้เป็นคนดี พ่อแม่จะไม่ยอมรับว่าตี เพราะโกรธลูก

3) การถดถอย (Regression) หมายถึง การหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข ตัวอย่างเช่น เด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้องใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่กับน้อง มีความรู้สึกว่าแม่ไม่รัก และไม่สนใจตนเท่าที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารกที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง

4) การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) หมายถึง กลไกป้องกันตน โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง ที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคม อาจจะไม่ยอมรับ ตัวอย่างแม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่ง อาจจะมีพฤติกรรมตรงข้าม โดยการแสดงความรักมากอย่างผิดปกติ

5) การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy หรือ Day dreaming) เป็นการสร้างจินตนาการ หรือมโนภาพ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการ แต่เป็นไปไม่ได้

6) การแยกตัว (Isolation) หมายถึง การแยกตนให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง ตัวอย่างเช่น เด็กที่คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก อาจจะแยกตนปิดประตูอยู่คนเดียว

7) การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) เป็นการระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคน หรือสิ่งของ ที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เป็นต้นว่า บุคคลที่ถูกนายข่มขู่ หรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะใช้ภรรยา หรือลูกๆ เป็นแพะรับบาป เช่น อาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยา และลูก ๆ นักเรียนที่โกรธครู แต่ทำอะไรครูไม่ได้ ก็อาจจะเลือกสิ่งของ เช่น โต๊ะเก้าอี้เป็นสิ่งแทนที่ เช่น เตะโต๊ะ เก้าอี้

8) การเลียนแบบ (Identification) หมายถึง การปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่อง ตัวอย่างเช่น เด็กชายจะพยายามทำตัวให้เหมือนพ่อ เด็กหญิงจะทำตัวให้เหมือนแม่

กลไกในการป้องกันตัว เป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผล หรือแก้ไขปัญหาได้



ที่มาเรียบเรียงจาก :
- บทความโดยมาโนช หล่อตระกูล จากเว็บภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- http://rasidah6381.blogspot.com/2012/07/1_9282.html

ภาพประกอบ :
http://imploii.exteen.com/20091129/entry-1
http://rasidah6381.blogspot.com/2012/07/1_9282.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น